กู้เงินสินเชื่อให้ได้รับอนุมัติ

เทคนิคการกู้อย่างไรได้ทุกที ขอสินเชื่อให้ได้ทุกครั้ง

กู้สินเชื่ออย่างไรให้ได้อนุมัติทุกที

ในห้วงเวลาแห่งการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ เชื่อว่าทุกคนจะต้องมีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัย ทุกวันนี้หลายๆ ครั้งจะได้ยินว่าธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อแล้ว ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ทุกฝ่ายก็จะขอให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น

แต่ถ้าคิดดูให้ดีนะครับ คงจะต้องเข้าใจและเห็นใจสถาบันการเงินบ้างว่าทำไมสถาบันการเงินหรือธนาคารจะต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะปัจจุบันนี้ ต้องตอบว่าประวัติศาสตร์ในปี 2540 ที่เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในประเทศไทยได้สอนให้รู้ว่าถ้ามีการปล่อยสินเชื่อแบบไร้คุณภาพ สิ่งที่จะตามมาก็คือ มี NPL หรือ สินเชื่อด้อยคุณภาพจะล้นธนาคาร

NPL กับวิกฤติ ปี 2541

มื่อเป็น NPL ธนาคารก็จะต้องใช้ทุนในการสำรองเผื่อหนี้เสีย และถ้าทุกท่านยังจำได้ ในปี 2541 ซึ่งเป็นปีรุ่งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปรากฏว่าในระบบสถาบันการเงินไทยมี NPL ถึง 40-50% เลยทีเดียว ผลปรากฏว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สถาบันการเงินต่างๆ และธนาคารพาณิชย์ต่างล่มสลาย ถูกปิดกิจการเกือบหมดเหลืออยู่เท่ากับทุกวันนี้ และยังไม่แน่ใจว่ายังมีบางสถาบันที่จะปิดตัวเองอีกเมื่อไหร่หากไม่มีระบบการกลั่นกรองสินเชื่อที่มีคุณภาพที่เพียงพอ

อย่างที่ได้เรียนอธิบายไว้ว่า หากมี NPL เกิดขึ้นใหม่อีกรอบ แล้วสถาบันการเงินจำเป็นจะต้องเพิ่มทุนอีกรอบ คำถามว่าครั้งนี้สถาบันการเงินไทยจะไปหาเงินเพิ่มทุนจากที่ไหนได้ เพราะว่าครั้งนี้เป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป และในเอเชียเกือบทุกประเทศล้วนต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ ซึ่งในครั้งนี้หากสถาบันการเงินต้องเพิ่มทุนอีกครั้งคงจะไม่สามารถหานักลงทุนจากต่างประเทศมาเพิ่มทุนได้ดั่งเช่นครั้งก่อนอีกแล้ว

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทุกธนาคารจะต้องใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้มีความรัดกุมเพิ่มขึ้นกว่าการปล่อยสินเชื่อในภาวะปกติ แต่ก็นับว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่ได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว ทำให้สถาบันการเงินไทยได้มีวิวัฒนาการในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีระบบและรัดกุมมากกว่าเดิมมาก เพราะในปี 2541 มี NPL สูงถึง 40-50% แต่ประเทศไทยได้ผ่านความเจ็บปวดและฟื้นตัวกลับมาได้ ทำให้ปัจจุบันมี NPL อยู่ในระบบเพียง 6-7% เท่านั้น แต่ยังไม่ได้นับรวมที่มี NPA และ NPL อยู่ในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ทางการจัดตั้งขึ้นอย่าง บสท และ บสก เป็นต้นอีก

เทคนิคการกู้อย่างไรได้ทุกที

คราวนี้เรากลับมาคุยถึง “เทคนิคการกู้อย่างไรได้ทุกที” กันบ้าง ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันการกู้เงินจากสถาบันการเงินยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ โดยเฉพาะการกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยอย่างสินเชื่อบ้าน ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่ และ การกู้ไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย ต้องมองว่าการกู้สินเชื่อบ้านเป็นการเก็บออมเงินอย่างหนึ่ง เพราะทุกคนก็จะผ่อนชำระไปเรื่อยๆใช้เวลา 10-30 ปี ในการผ่อนชำระ เมื่อผ่อนหมดก็จะได้บ้านที่ปลอดภาระเป็นสมบัติที่จะส่งมอบต่อให้ลูกหลาน

แล้วกู้อย่างไรถึงจะได้บ้านล่ะ? ก็คงต้องมีการเตรียมตัวที่จะเป็นผู้กู้ที่ดี ที่ถูกใจผู้ที่จะให้กู้ นั่นก็คือธนาคารพาณิชย์นั่นเอง เพราะธนาคารพาณิชย์ก็จะมีระบบการคัดเลือกลูกค้าที่ดี จากที่เล่าให้ฟังในตอนต้นว่าสถาบันการเงินได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงระบบการปล่อยสินเชื่อจากในอดีตที่ใช้ดุลยพินิจของผู้อนุมัติสินเชื่อเป็นส่วนใหญ่ มาเป็นใช้ระบบและเครื่องมือในการพิจารณาสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่ใช้ระบบ Credit Scoringใช้คะแนนเป็นตัวตัดสินในการอนุมัติสินเชื่อแทนการใช้ดุลพินิจอย่างแต่ก่อน

นอกจากระบบการอนุมัติแล้ว ธนาคารยังพยายามแยกผู้ที่อนุมัติออกจากระบวนการขาย คือไม่ให้ผู้อนุมัติได้รู้จักลูกค้า ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อก็ไม่มีอำนาจอนุมัติ เพราะอาจจะใช้ดุลยพินิจที่ลำเอียงได้ ดังนั้นผู้อนุมัติจะพิจารณาจากเนื้อผ้าล้วนๆ ไม่มีความลำเอียง หากข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่น่าเชื่อถือ และไม่แสดงความสามารถในการผ่อนชำระก็จะถูกปฏิเสธ อีกทั้งคะแนนต่างๆ ที่ดูจากระบบ Credit Scoring ก็จะเป็นตัวที่ใช้พิจารณาเป็นหลักอีกด้วย

ดังนั้นหากท่านต้องการจะกู้ให้ผ่าน อันดับแรก ขอแนะนำให้กู้ตามกำลังที่ตนเองจะผ่อนชำระไหว ซึ่งส่วนใหญ่ธนาคารมักจะให้กู้ในวงเงินที่จะทำให้ผ่อนชำระไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เช่น หากท่านมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ก็ไม่ควรผ่อนชำระเกิน 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้ากู้บ้านประมาณ 1.0 ล้านบาท เป็นเวลา 20 ปี ท่านจะต้องผ่อนชำระประมาณเดือนละ 8,000 บาทต่อเดือน หรือจะเปรียบเทียบง่ายๆ คือ ทุกเงินกู้ 1.0 ล้านบาท ท่านจะต้องมีรายได้รองรับ 20,000 บาทต่อเดือน แปลว่าถ้าจะกู้ 2.0 ล้านบาทก็ต้องมีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือนจึงจะเพียงพอ ฉะนั้นอันดับแรกอย่ากู้เกินตัว หรือซื้อบ้านหลังใหญ่กว่ารายได้ที่ตนมี

อันดับต่อมา สำรวจว่าตนเองมีภาระเดิมอะไรบ้าง เช่นกู้ผ่อนรถยนต์, กู้ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือกู้สินเชื่อบุคคลอื่นๆ อยู่ ขอแนะนำว่าควรชำระหนี้เหล่านั้นให้หมดก่อน ไม่เช่นนั้นจะทำให้ท่านมีภาระผ่อนมาก ทำให้สัดส่วนที่ให้กู้ได้ 40% ของรายได้ลดลง เช่น ปัจจุบันผ่อนอยู่แล้ว 5,000 บาทต่อเดือนท่านมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ก็จะมีช่องว่างที่จะกู้เพิ่มได้อีกไม่มาก เพียงยอดที่ผ่อนเพิ่มอีกเพียง 3,000 บาทเท่านั้นก็จะกู้ได้อีกเพียง 3–4 แสนบาทเท่านั้น

หลังจากนั้นก็เตรียมเอกสารให้พร้อม ประกอบด้วยบัตรประชาชน, ทะเบียนบ้าน, ใบรับรองเงินเดือนหรือSlipเงินเดือน และที่สำคัญก็คือ Statement ของธนาคารที่มีเงินเดือนหรือรายได้ที่เข้าบัญชีย้อนหลังประมาณ 6 เดือน ถ้าเป็นผู้มีรายได้อิสระก็จะต้องนำ Statement ธนาคารทุกธนาคารมาแสดงให้มากที่สุด และที่สำคัญที่สุดท่านต้องไม่เป็น NPL นะครับเพราะถ้าเป็นก็จะหมดสิทธิ์กู้เลยครับ เพราะธนาคารคงไม่หล้าอนุมัติให้แน่ เตรียมตัวให้พร้อมนะครับจะคอยเชียร์

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์  khomesmilesclub.com